4 เรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับ PDPA
ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565ที่ผ่านมา มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 หรือ กฎหมาย PDPA หลังจากมีการเลื่อนประกาศใช้มาแล้ว 2 ปี ซึ่งยังคงมีผู้คนที่เข้าใจผิด อาจจะมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่อง PDPA หรือบางส่วนก็เข้าใจว่าการกระทำบางอย่างมีความผิด แต่แท้จริงแล้วอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด
ตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็นับว่าเป็นกฎหมายที่เราทุกคนควรทราบและตระหนักรู้ถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กร บริษัท ห้างร้าน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ใช้งาน หรือจะเป็นพนักงานที่ทำงานภายในองค์กรเองก็ตาม
องค์กรต่าง ๆ จึงได้รับผลกระทบพอสมควรกับการประกาศใช้ PDPA เพื่อเพิ่มมาตรฐานนโยบายการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัยและนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยิมยอนที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ให้ไว้ และที่สำคัญต้องสอดคล้องต่อ PDPA ด้วย ทำให้กระบวนการทำ PDPA ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสักทีเดียว ที่เราจะทำได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เป็นจำนวนมาก
👉PDPA ย่อมาจาก คำว่า Personal Data Protection กฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต———————————————
ถาม : ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA
ตอบ : การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน
ถาม : เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้
ตอบ : ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
(1) เป็นการทำตามสัญญา
(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป
ถาม : ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ตอบ : สามารถโพสท์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
ถาม : การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ตอบ : กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว